90058 จำนวนผู้เข้าชม |
สินสมรสนั้นดูจากตัวอักษรก็น่าจะเข้าใจความหมายได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส แต่ถ้าจะให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสเพียงอย่างเดียวก็จะเห็นว่าสินสมรสระหว่างสามีภริยาจะมีน้อยมาก ผู้ร่างกฎหมายประสงค์จะให้สามีภริยามีส่วนร่วมกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสามีภริยา ได้มั่นคงไม่ถูกบั่นทอนได้ง่าย จึงได้กำหนดให้ดอกผลอันเกิดจากสินส่วนตัวเป็นสินสมรสด้วย ซึ่งเป็นการขัดกับหลักทั่วไป เพราะโดยปกติใครเป็นเจ้าของทัพย์สินสิ่งใดย่อมเป็นเจ้าของดอกผลอันเกิดจากทัพย์สินนั้น แต่เมื่อกฎหมายครอบครัวได้บัญญัติไว้ก็เท่ากับว่าเป็นการยกเว้นจากหลักทั่วไป ก็จำต้องปฏิบัติตาม เรื่องนี้แตกต่างไปจากกฎหมายเดิม เพราะแต่ก่อนดอกผลของสินส่วนตัวเป็นสินส่วนตัว ในเรื่องสินสมรสนี้กฎหมายได้วางหลักไว้ว่า "สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน"
1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์สินใดๆก็ตามที่ได้มาในระหว่างสมรสนอกเหนือไปจากที่ถูกกำหนดไว้เป็นสินส่วนตัวแล้วย่อมเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน เงินหรือทรัพย์อื่นที่ได้มาในระหว่างสมรส , ภริยาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในระหว่างที่ยังอยู่ร่วมกัน เมื่อหย่ากันสิทธิตามสัญญาเป็นสินสมรส หรือสามีทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ขณะที่เป็นสามีภริยากัน สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเป็นสินสมรส เพราะย่อมเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส , เงินบำนาญหรือสิทธิในการรับบำนาญได้มาในระหว่างสมรสแม้จะรับราชการอยู่ก่อนสมรสก็ตาม เป็นสินสมรส เป็นต้น
2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส คือในระหว่างสมรสหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทรัพย์สินมาและทรัพย์สินนั้นจะเป็นสินสมรสต้องเป็นการได้มาโดย
2.1 พินัยกรรม หมายความว่า พินัยกรรมต้องเป็นหนังสือและระบุว่าเป็นสินสมรสไม่ใช่การเป็นทายาทโดยธรรม
2.2 การให้เป็นหนังสือ และหนังสือนั้นระบุว่าเป็นสินสมรส
หากพินัยกรรมหรือการยกให้เป็นหนังสือมิได้ระบุให้เป็นสินสมรส หรือเป็นการให้ด้วยวาจา ทรัพย์สินนั้นจะกลายเป็นสินส่วนตัว
3. ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 นี้มิได้กำหนดไว้เป็นพิเศษว่าอะไรคือดอกผล เพราะฉะนั้น ต้องถือหลักทั่วไปซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า ดอกผลนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
3.1 ดอกผลธรรมดา กล่าวคือ บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งได้มาเพราะการใช้ของนั้นอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังเช่น ผลไม้ น้ำนม ขนและลูกของสัตว์ เหล่านี้ย่อมสามารถจะถือเอาได้เมื่อขาด จากสิ่งนั้นๆ
3.2 ดอกผลนิตินัย กล่าวคือ ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล และลาภอื่นๆ ที่ได้เป็นครั้งคราวแก่เจ้าทรัพย์จากผู้อื่น เมื่อได้ใช้ทรัพย์นั้นดอกผลเหล่านี้ย่อมคำนวณและถือเอาได้ตามรายวัน
สำหรับเรื่องดอกผลนี้เฉพาะในเรื่องครอบครัวแตกต่างกับหลักทั่วไป ดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะปกติแล้วใครเป็นเจ้าของทรัพย์อันใดย่อมเป็นเจ้าของดอกผลด้วย ฉะนั้น ดอกผลของสินสมรสย่อมเป็นสินสมรส แต่ในกรณีถ้าทรัพย์สินเป็นสินส่วนตัว ดอกผลของทรัพย์แทนที่จะเป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกับทรัพย์ แต่กลายเป็นทรัพย์ของทั้งสองคนซึ่งเรียกว่าสินสมรส
สำหรับเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานี้ "หากเป็นที่สงสัยว่าจะเป็นสินสมรสใช่หรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส" บทสันนิษฐานของกฎหมายนี้เป็นบทสันนิษฐานไม่เด็ดขาด กล่าวคือ หากคู่สมรสฝ่ายใดมีปัญหาว่าทรัพย์สินในส่วนนี้จะเป็นส่วนตัวหรือสินสมรสให้ถือว่าเป็นสินสมรส ฝ่ายที่ถือว่าเป็นสินส่วนตัวจะต้องเป็นฝ่ายนำสืบ แต่จะนำข้อสันนิษฐานนี้ไปใช้กับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่สามีภริยากันไม่ได้