254180 จำนวนผู้เข้าชม |
การประกันตัว หมายถึง การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย พ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีประกัน หรือโดยมีประกันและหลักประกันหรือไม่ ก็ได้
การปล่อยตัวชั่วคราว หมายถึง การสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าจำเป็น ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างการดำเนินคดี เพราะหากไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ ก็ควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราวไปตามหลักการของ ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และตามหลักการของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ว่า ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
ประเภทของการปล่อยชั่วคราว
การปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เจ้าพนักงานหรือศาล พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวได้ อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกันแต่อย่างใด เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาลเท่านั้น
2. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยผู้ร้องขอประกันหรือผู้ประกัน ต้องทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือตามหมายเรียกต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาตามนัดหรือหมายเรียก ผู้ประกันจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน
3. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกัน ต้องทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล และผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกัน ต้องวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะสามารถบังคับเอากับหลักประกันตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ได้ เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน
ผู้มีสิทธิ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย "ผู้ต้องหา" หมายความถึง บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล กล่าวคือ ยังอยู่ในชั้นของตำรวจ (พนักงานสอบสวน) และพนักงานอัยการ ส่วน "จำเลย" หมายความถึง บุคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้ว โดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด กล่าวคือ ศาลรับฟ้องอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลแล้ว
2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวของกับผู้ต้องหาหรือจำเลย อันได้แก่ บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีภริยา ญาติพี่น้อง ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง ทนายความ บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่เจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ) หรือศาลเห็นว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติ พี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่เจ้าพนักงานหรือศาลเห็นสมควร
ลำดับชั้น การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
การยื่นคำร้องขอปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยไม่ต้องมีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน ไม่ว่าผู้นั้นต้องควบคุมหรือขังตามหมายศาล ย่อมยื่นได้โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ตามลำดับ ดังนี้
1. การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ชั้นก่อนฝากขัง เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี กล่าวคือ เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) หรือถูกควบคุมอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ โดยยังมิได้มีการนำตัวผู้ต้องหามาขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างสอบสวน ในชั้นนี้ ผู้ขอประกันตัวสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ ที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าการดำเนินคดีอยู่ชั้นใด
2. การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ชั้นระหว่างฝากขัง เมื่อผู้ต้องหา ต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อศาลนั้น กล่าวคือ เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ นำตัวมาขออนุญาตศาลฝากขัง ระหว่างที่ยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้นๆ
3. การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ชั้นระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น กล่าวคือ เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก็จะเปลี่ยนฐานะจากผู้ต้องหามาเป็นจำเลยตามกฎหมาย จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลได้ ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องและหมายเรียกจำเลยให้มาแก้คดี จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาล ทั้งนี้ จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวก่อนวันนัดหรือในวันนัดตามที่ระบุไว้ในหมายเรียกก็ได้
4. การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ชั้นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาต่อศาลฎีกา เมื่อจำเลยถูกกักขังหรือจำคุกโดยผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ก่อนที่จะยื่นอุทรณ์หรือยื่นฎีกา หรือจะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว พร้อมกันกับยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกา หรือจะยื่นภายหลังจากการยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาแล้วก็ได้
ลำดับการยื่นในชั้นนี้ เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกา หรือมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต มิฉะนั้น ให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี
เมื่อศาลส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น หรือจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้ ในกรณีที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี
5. การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว บุคคลที่ถูกกักขังหรือจำคุกกรณีอื่น เช่น ศาลออกหมายจับพยานที่จงใจไม่มาศาล หรือกรณีละเมิดอำนาจศาล หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกจับกุมโดยเหตุจงใจขัดขืนคำบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 300 เป็นต้น บุคคลเช่นว่านั้น มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ ในชั้นที่ตนถูกพิจารณาสั่งขังหรือจำคุกนั้น
6. การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว สำหรับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ยื่นคำร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (พนักงานคุมประพฤติหรือผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ) หรือคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบนั้นๆ