เมื่อได้รับหมายศาลควรทำอย่างไร

205952 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อได้รับหมายศาลควรทำอย่างไร

                 หมายศาลจะถูกส่งไปตามหมายเลขของทะเบียนบ้าน โดยพนักงานเดินหมายจะเป็นคนส่งให้ซึ่งจะนำไปไว้ในกล่องจดหมายหรือเสียบไว้ที่ประตูบ้าน ไม่ต้องตกใจ หรือเอาไปทิ้งแล้วอ้างว่าไม่ได้รับหมายศาลเด็ดขาด เพราะทางกฎหมายถือว่า การส่งหมายนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะอ้างว่าไม่รู้หรือไม่เห็นไม่ได้ สิ่งที่ท่านควรจะทำก็คือให้ตรวจสอบรายละเอียดของหมายศาลนั้นว่าเป็นหมายศาลชนิดใด ส่งถึงใครและให้ปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากหมายศาลมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา โดยจะขอกล่าวถึงหมายศาลที่สำคัญและพบบ่อย มีดังต่อไปนี้

► หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
→ หมายเรียกชนิดนี้จะถูกส่งไปพร้อมกับสำเนาคำฟ้องเสมอ ซึ่งผู้ที่มีชื่ออยู่ในหมายนั้นเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ผู้ที่ถูกฟ้องต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดี ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ จำเลยต้องยื่นคำให้การสู้คดีต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย เป็นต้น

► หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง
→ หมายเรียกชนิดนี้เป็นคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ซึ่งตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องมานั้นมีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ศาลก็จะสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ซึ่งต่างจากผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องศาลเอง กรณีที่อัยการฟ้องนี้จึงไม่มีนัดไต่สวนมูลฟ้อง

► หมายเรียกพยานบุคคล
→ เมื่อได้รับหมายเรียกชนิดนี้แล้ว จะต้องไปศาลตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมายนั้น เพื่อไปเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาล หากขัดขืนไม่ไปตามนัด จะมีโทษตามกฎหมายซึ่งศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจไปศาลในวันนั้นได้ โดยทำหนังสือแจ้งไปยังศาลทราบถึงเหตุขัดข้องนั้น 

► หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ
→ ในคดีแพ่งจะเรียกหมายนี้ว่า คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ส่วนคดีอาญาจะเรียกว่า หมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ซึ่งผู้ที่มีชื่อในหมายดังกล่าวมีหน้าที่จะต้องส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการที่ระบุไว้ในหมาย หากขัดขืนจะมีโทษตามกฎหมาย แต่ถ้าหากไม่มีเอกสารและวัตถุพยานหรือมีอยู่แต่เฉพาะบางส่วน ก็สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องไปให้ศาลทราบถึงเหตุขัดข้องนั้นได้เช่นกัน

► หมายบังคับคดี
→ เป็นหมายในคดีแพ่ง ที่ศาลมีคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้คดีแล้ว และไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับหมายบังคับคดีแล้วมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้หรือปฏิบัติตามคำพิพากษา มิฉะนั้นอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้

► หมายค้น หมายจับ หมายขังและหมายปล่อย
→ กฎหมายห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลแต่มีข้อยกเว้นถ้าพนักงานฝ่ายปกครอง (ตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงมาจนถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ) หรือตำรวจ (ตั้งแต่อธิบดีกรมตำรวจลงมาจนถึงหัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) เป็นผู้ค้นในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
     → เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยออกมาจากที่รโหฐานหรือมีพฤติการณ์ที่แสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นข้างใน  
     → เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน       
     → เมื่อมีคนร้ายขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่       
     → เมื่อมีหลักฐานว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซ่อนอยู่ซึ่งหากรอหมายค้นสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายทำลายเสียก่อน     
     → เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้ที่จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ

► หมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย เป็นเรื่องเฉพาะที่มีขั้นตอนที่ลึกลงไปอีกซึ่งศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
            
                การได้รับหมายศาลเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไป ดังนั้นถ้าหากท่านได้รับหมายศาลแล้ว ขอให้ตั้งสติ ไม่ต้องตกใจ ให้อ่านรายละเอียดให้รอบคอบดูว่าเป็นหมายชนิดใด ส่งถึงใคร และให้ปฏิบัติอย่างไร ถ้าหากว่าไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจในข้อความของหมายเรียกนั้น ให้ปรึกษาทนายความเพื่อขอคำปรึกษาและแนวทางการต่อสู้

 

                                                             
 
                                                                        เพิ่มเพื่อน

                                                                                                    ทนายอภินันท์ อากาศวิภาต

        081-8491969    


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้